ปุ๋ยเคมีใส่ยังไงให้ได้ผลดี

ปุ๋ยเคมี 
ปุ๋ยพวกนี้เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากการผลิตหรือสังเคราะห์ทางอุตสาหกรรม จากแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้ตามธรรมชาติ หรือเป็นผลพลอยได้ของโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด ปุ๋ยเคมีมีอยู่ 2 ประเภท คือ แม่ปุ๋ย หรือปุ๋ยเดี่ยวพวกหนึ่ง และปุ๋ยผสมอีกพวกหนึ่ง

หลักการใช้ปุ๋ยเคมีให้ได้ผลดี

ปุ๋ยเคมี เมื่อใส่ลงไปในดิน จะมีโอกาสสูญเสียไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับธาตุไนโตรเจน และโพแทสเซียม ส่วนฟอสฟอรัสนั้น พืชดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้เพียงไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณที่ใส่ลงไปในดิน ฟอสฟอรัสที่เหลือทั้งหมด จะทำปฏิกิริยากับดิน กลายเป็นสารประกอบที่ละลายน้ำยาก พืชดึงดูดไปใช้ไม่ได้ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยลงไปในดิน เพื่อให้พืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้มากที่สุดและสูญ เสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปุ๋ย ชนิดเดียวกัน สูตรเดียวกันใส่ลงไปในดินโดยวิธี แตกต่างกัน พืชจะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้ไม่เท่ากัน อาทิ ปุ๋ยที่ใส่แบบหว่านจะให้ผลแตกต่างจากปุ๋ยที่ ใส่โรยแบบเป็นแถวหรือเป็นจุดใกล้ต้นพืช ฉะนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพจึงควรมีหลักเกณฑ์ ในการใส่ปุ๋ยที่ควรจะยึดถือเป็นแนวทางดังนี้คือ

  • ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง
  • ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม
  • ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ
  • ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

ชนิดของปุ๋ยที่ใช้ถูกต้อง

การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องนั้น หมายถึง สูตรเรโชและรูปของธาตุอาหารในปุ๋ย ปุ๋ยเคมีจะมีทั้งสามอย่างนี้แตกต่างกันออกไปอย่างกว้างขวาง สูตรปุ๋ยหรือบางทีเรียกว่า “เกรดปุ๋ย” หมายถึง ตัวเลขเขียนบอกปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมีโดยบอกเป็นค่าของเปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (N) ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P2 O5) และปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ (K2O) สูตรปุ๋ยจะเขียนไว้ที่ภาชนะบรรจุปุ๋ยเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น 20-10-5 ตัวเลขแรกจะบอกปริมาณไนโตรเจนว่ามีอยู่หนัก 20 กิโลกรัม เลขที่สองบอกปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มีอยู่ 10 กิโลกรัม เลขตัวที่สามบอกปริมาณโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้มีอยู่ 5 กิโลกรัม รวมเป็นธาตุอาหารทั้งหมด 35 กิโลกรัมในปุ๋ยหนัก 100 กิโลกรัม และเป็นที่ทราบกันเป็นสากลว่าเลขตัวแรก คือ ไนโตรเจน ตัวกลางคือ ฟอสฟอรัส ตัวสุดท้ายคือ โพแทสเซียม จะไม่มีการสลับที่กันจึงไม่จำเป็นต้องเขียนตัวหนังสือกำกับไว้  เมื่อดินขาดธาตุอาหาร N P และ K ชนิดของธาตุอาหารในปุ๋ยที่ใส่ก็จะต้องมีธาตุ N P และ K แต่ถ้าดินขาดธาตุอาหาร N และ P ส่วน K ในดินตามธรรมชาติมีเพียงพออยู่แล้ว ธาตุอาหารในปุ๋ยก็ควรจะมีแต่ N และ P เท่านั้น อาทิ ดินนาในภาคกลางซึ่งขาดแต่ N และ P เป็นส่วนใหญ่  ปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าวจึงมีแต่ N และ P เท่านั้น เช่น ปุ๋ยสูตร 18-46-0, 28-28-0, 20-20-0 และ 16-20-0 เป็นต้น

ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม

ปริมาณปุ๋ยที่พอเหมาะนี้ หมายถึง จำนวนหรืออัตราปุ๋ยที่ใช้ต่อไร่หรือต่อต้นที่พืชจะได้รับความพอเหมาะนี้มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ พอเหมาะในแง่ของปริมาณที่พืชควรจะได้รับเพื่อให้ได้ผลิตผลสูงสุดถ้าน้อยกว่านั้นก็จะทำให้พืชไม่เจริญเติบโตและให้ผลิตผลสูงเท่าที่ควรหรือถ้าให้มากเกินกว่านั้นก็อาจเป็นพิษแก่พืชหรือจะไม่ทำให้พืชเติบโตและให้ผลิตผลเพิ่มขึ้น แต่ทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งก็ คือ พอเหมาะในแง่ของหลักเศรษฐกิจ กล่าวคือปริมาณของปุ๋ยที่ใช้จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับราคาของปุ๋ยและราคาของผลิตผลที่จะขายได้เสียก่อน การใช้ปุ๋ยที่พอเหมาะในแง่นี้เป็นการใส่ปุ๋ยจำนวนหนึ่ง (ต่อไร่หรือต่อต้น) ซึ่งจะมีผลทำให้ผลิตผลสูงขึ้นที่ระดับหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตผลสูงสุด) อันจะทำให้ได้กำไรต่อเงินลงทุนในการซื้อปุ๋ยมาใช้มากที่สุด  การพิจารณาความพอเหมาะพอดีของจำนวนปุ๋ยหรืออัตราปุ๋ยที่จะใช้จะต้องอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ หลายประการมาประกอบการพิจารณา อาทิ ชนิดของพืช ระดับความชื้น และความอุดมสมบูรณ์เดิมของดิน วิธีการปลูก การดูแล และการบำรุงรักษาของกสิกรตลอดจนราคาของปุ๋ยและของพืชที่ปลูกประกอบด้วย

ใส่ปุ๋ยให้พืชขณะที่พืชต้องการ

พืชที่ปลูกในดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารมักจะแคระแกร็นและให้ผลิตผลต่ำ การใส่ปุ๋ยจะช่วยยกระดับธาตุอาหารที่ขาดแคลนให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช อย่างไรก็ตาม ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินเดียวกันกับพืชชนิดเดียวกันอาจจะให้ผลแตกต่างกันได้เป็นอย่างมากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา (timing)  ของการให้ปุ๋ยแก่พืชนั้นตรงกับระยะเวลาที่พืชมีความต้องการธาตุอาหาร นั้น ๆ มากที่สุดหรือไม่  ช่วงจังหวะความต้องการธาตุอาหารมากที่สุดของพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไปพืชที่มีอายุสั้น เช่น พืชไร่และข้าวจะมีจังหวะการดึงดูดธาตุอาหารที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดอย่างน้อย 3 ช่วงด้วยกัน คือ

ใส่ปุ๋ยให้พืชตรงจุดที่พืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและเร็วที่สุด

นอกจากจังหวะการใส่แล้ว วิธีการใส่เพื่อให้พืชดึงดูดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งนี้เนื่องจากในทันทีทันใดที่ปุ๋ยลงไปอยู่ในดินปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนย้ายของปุ๋ยจะเกิดขึ้นทันที

เมื่อเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ดินมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นเมื่อดินดีเราก็จะปลูกพืชได้ผลดี หากดินไม่ดีเราต้องรู้จักวิธีการปรับปรุงดิน เพื่อรักษาสภาพดินให้ดีและมีสารอาหารที่เหมาะกับพืชที่เราต้องการปลูกอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการธาตุอาหารในปุ๋ยและการใส่ปุ๋ย ในปริมาณที่พืชและดินต้องการ เพื่อรักษาความสมดุลในดินให้คงอยู่และไม่ทำให้พืชขาดสารอาหาร